จัดการศึกษาแบบบูรณาการอิสลามเพื่อสร้างเยาวชนให้มีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์และสมดุล มีตักวาต่ออัลลอฮฺและเป็นอุมมะฮฺที่ดีเลิศ
วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553
กีรออาตี....จากกระดาษ สู่การรังสรรค์สังคมมุสลิม
มุสลิมทุกคนมีความเชื่อและศรัทธามั่นว่าอัล-กุรอานเป็นคำพูดของอัลลอฮฺที่วะฮฺยูลงมาสู่ท่านนบีมูฮัมมัด (ซ็อลฯ) โดยผ่านมาลาอีกัตญิบรีล อัลลอฮฺได้ประทานอัล-กุรอานลงมาทีละเล็กทีละน้อยตามโอกาสและสถานการณ์ต่างๆ ให้แก่มนุษยชาติ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลก เพื่อยุติการโต้แย้ง และเพื่อเป็นทางนำที่ดีที่สุดแก่มนุษยชาติในอันที่จะนำไปสู่สัจธรรมแห่งอัลลอฮฺและความสงบสุขชั่วนิจนิรันดร์ ทุกตัวอักษรของอัล-กุรอานเป็นคำพูดของอัลลอฮฺ อัล-กุรอานจึงเป็นแหล่งวิชาการแหล่งแรกและเป็นจริงที่สุดของอิสลาม อัล-กุรอานถูกประทานลงมาเป็นภาษาอาหรับ ในปัจจุบันนี้และในอนาคตอัล-กุรอานยังคงมีความสมบูรณ์และยังคงรักษาความดั่งเดิมตลอดกาล
การเรียนรู้อัล-กุรอานเป็นความรับผิดชอบของมุสลิมทุกคน หมายความว่า มุสลิมทุกคนจะต้องเรียนรู้อัล-กุรอานซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจในสิ่งที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ เราจะได้ปฏิบัติตามในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงใช้และหลีกเลี่ยงในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอันใหญ่หลวงมากในปัจจุบันนี้ คือ มุสลิมส่วนใหญ่อ่านอัล-กุรอานไม่ได้ มีมุสลิมบางคนที่อ่านอัล-กุรอานได้บ้างแต่สามารถอ่านได้ไม่ถูกต้องตามหลักตัจวีด โดยเฉพาะเยาวชนในตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีและตำบลใกล้เคียงส่วนใหญ่จะอ่านอัล-กุรอานไม่ได้ สาเหตุสำคัญ คือ ไม่มีโรงเรียนสอนอัล-กุรอาน ขาดครูสอนอัล-กุรอาน และไม่มีวิธีสอนที่ดีและเหมาะสมที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถในการอ่านอัล-กุรอานได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน คล่องแคล่ว สามารถเรียนรู้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และเรียนอย่างเพลิดเพลินโดยไม่รู้เบื่อ
วิธีการสอนที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญมากซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะการอ่านอัล-กุรอานได้อย่างมีคุณภาพ การวิจัยเพื่อศึกษาคิดค้นวิธีการสอนอัล-กุรอานที่เหมาะสมเป็นภารกิจที่มีความสำคัญยิ่งซึ่งจะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จที่สิ่งใหญ่ในการพัฒนาทักษะการอ่านอัล-กุรอานของผู้เรียน จากการดำเนินการวิจัยของฮัจยีดะฮฺลัน ซาลิม ซารกาชี (Hj. Dachlan Salim Zarkasyi) เมืองซามารัง ประเทศอินโดนีเซีย ได้ค้นพบวิธีสอนอัล-กุรอานที่มากวิธีหนึ่ง ชื่อว่า “การสอนอ่านอัล-กุรอานโดยใช้ระบบกีรออาตี” เป็นนวัตกรรมทางการสอนอัล-กุรอานที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมาก ผู้เรียนสามารถเรียนรู้การอ่านอัล-กุรอานได้อย่างรวดเร็ว ง่าย และเรียนอย่างมีความสุข ผู้เรียนสามารถอ่านอัล-กุรอานได้ภายใน 4 – 5 เดือน
ในเดือนกันยายน พ.ศ.2542 จึงมีการปรับปรุงบ้านเช่า จำนวน 1 ห้อง และโรงรถ จำนวน 1 ห้อง ดัดแปลงเป็นห้องเรียนอัล-กุรอาน โดยใช้งบประมาณ จำนวน 35,600 บาท ซึ่งได้มาจากการบริจาคจากมุสลีมีนและมุสลีมะฮฺทั้งหลาย ได้ห้องเรียน จำนวน 6 ห้องเรียน จึงเกิดเป็นโรงเรียนสอนอัล-กุรอานขนาดเล็ก ชื่อว่า “โรงเรียนสอนอัล-กุรอานกีรออาตี” ชื่อภาษามลายู “Taman Asohan Al-Quran Qiraati” และชื่อภาษาอังกฤษ “Qiraati Quranic Instruction School” ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 116/7-9 หมู่ที่ 2 ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เริ่มเปิดดำเนินการสอนตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2542 ในระยะเริ่มแรกมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสอน จำนวน 1 คน ครูผู้สอน จำนวน 6 คน และนักเรียนรุ่นแรก จำนวน 92 คน ในการจัดการเรียนการสอนได้กำหนดจุดประสงค์หลักดังต่อไปนี้ คือ
1. เพื่อจัดการเรียนการสอนอัล-กุรอานโดยใช้ระบบกีรออาตี
2.เพื่อปลูกฝังเกี่ยวกับการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ (อากีดะฮฺ)
3.เพื่ออบรมสั่งสอนและบ่มนิสัยเกี่ยวกับกิริยามารยาท (อัคลาค)
4.เพื่ออบรมสั่งสอนเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจ (อามาลอีบาดัต)
5.เพื่อจัดการเรียนการสอนภาษาอาหรับ ภาษามลายู และภาษาอังกฤษ
ในระยะ 2 เดือนต่อมา ผู้ปกครองนักเรียนในตำบลยามูและตำบลใกล้เคียงในอำเภอยะหริ่งจังหวัดปัตตานี มีความต้องการสูงมากที่จะส่งบุตรหลานมาเรียนในโรงเรียนเล็ก ๆ แห่งนี้ แต่โรงเรียนไม่มีห้องเรียนอย่างเพียงพอ ไม่สามารถที่จะสนองความต้องการของผู้ปกครองได้ โรงเรียนมีความจำเป็นที่จะต้องขยายห้องเรียนเพิ่มเติมซึ่งจะต้องใช้งบประมาณ จำนวน 300,000 บาท โรงเรียนจึงทำโครงการขอบริจาคเงินเพื่อต่อเติมห้องเรียน ได้ยอดเงินบริจาคจากมุสลีมีนและมุสลีมะฮฺในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา จำนวน 160,000 บาท จำนวนอีก 140,000 บาท ใช้วิธียืมจากเพื่อน ๆ โดยไม่มีดอกเบี้ยและไม่คิดผลประโยชน์ ได้ห้องเรียนทั้งสิ้น 20 ห้องเรียน แบ่งเป็นห้องเรียนหญิง จำนวน 10 ห้องเรียน และเป็นห้องเรียนชาย จำนวน 10 ห้องเรียน สามารถรับนักเรียนได้ทั้งสิ้น 320 คน
การแต่งกายของนักเรียน นักเรียนชายแต่งกายด้วยเสื้อโต๊บสีขาวและหมวกกะปียอฮฺสีขาว นักเรียนหญิงแต่งกายด้วยชุด Hijab สีดำ ทุกคนแต่งกายในชุดที่พร้อมที่จะละหมาด โรงเรียนเปิดดำเนินการสอน จำนวน 6 วันต่อสัปดาห์ คือ ในวันเสาร์ถึงวันพฤหัสบดี ส่วนวันศุกร์เป็นหยุดประจำสัปดาห์ จำนวน 1 วัน นักเรียนจะมาถึงโรงเรียนก่อนเวลามัฆริบและละหมาดที่โรงเรียน จำนวน 2 วักตู คือ มัฆริบและอีชาอฺ นักเรียนทุกคนมีเวลาเรียน จำนวน 1 ชั่วโมง 15 นาที เลิกเรียนเวลาประมาณ 20.30 น. โดยใช้ตารางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดังนี้ คือ
เวลา 18.15 – 18.45 น. ละหมาดมัฆริบ
เวลา 18.45 – 19.00 น. บทเรียนเกี่ยวกับการทำอามาลอีบาดัต
เวลา 19.00 – 20.00 น. เรียนอัล-กุรอาน
เวลา 20.00 – 20.10 น. เตรียมตัวละหมาดอีชาอฺ
เวลา 20.10 – 20.25 น. ละหมาดอีชาอฺ
เวลา 20.25 – 20.30 น. อบรมเรื่องคุณธรรมจริยธรรม
จากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนดังกล่าวทำให้นักเรียนมีผลสำเร็จทางการเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจยิ่ง นักเรียนมีความสามารถในการอ่านอัล-กุรอานได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และคล่องแคล่ว มีความเพลินเพลิดกับการเรียน รักการอ่าน มีกิริยามารยาทที่งดงาม และขยันละหมาด ความสำเร็จ ความก้าวหน้า และพัฒนาการในการดำเนินการจัดการเรียนการสอนอัล-กุรอาน ณ โรงเรียนสอนอัล-กุรอานกีรออาตี ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
การดำเนินงานของโรงเรียนที่ผ่านมาได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง ชุมชนมีความพึงพอใจมาก และสังคมตอบรับเป็นอย่างดียิ่ง ทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนอัล-กุรอานโดยปริยาย มีผู้ที่มีความสนใจทั้งภาครัฐและเอกชนภายในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากมายมาศึกษาดูงานเป็นประจำ เช่น โรงเรียนตาดีกา โรงเรียนสอนอัล-กุรอาน โรงเรียนเราเฎาะฮฺ โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป พร้อมกันนั้นโรงเรียนยังจัดอบรมการจัดการเรียนการสอนอัล-กุรอานโดยใช้ระบบกีรออาตีให้แก่ผู้ที่สนใจเป็นประจำทุกปี ทั้งยังเป็นวิทยากรให้การอบรมแก่โรงเรียนต่าง ๆ อีกด้วย
อีกประการหนึ่ง ในขณะนี้มีผู้ปกครองอีกจำนวนมากทั้งในตำบลยามูและตำบลใกล้เคียงมีความประสงค์ที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ แต่โรงเรียนไม่สามารถที่จะรับได้ เนื่องจากสถานที่คับแคบ โรงเรียนจึงได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียน จำนวน 10 ไร่ เป็นเงิน 2,500,000 บาท โดยได้รับเงินบริจาคเพื่อการซื้อที่ดินจากผู้มีจิตศรัทธาและมีผู้มีจิตศรัทธา จำนวน 2 ท่าน บริจาคที่ดินอีกจำนวน 1 ไร่ ได้ที่ดินรวมทั้งสิ้น 11 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนได้ใช้สถานที่แห่งนี้ในการจัดการเรียนการสอนอัล-กุรอานโดยใช้ระบบกีรออาตี
อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ด้วยความพยายามของทุกท่านที่ร่วมมือกันปลูกฝัง บ่มเพาะ และสั่งสอนลูกหลานทั้งหลายที่อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกันแห่งบ้านกาลามุลลอฮฺ ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์และแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ทั้งนี้ด้วยความอิคลาส ความบริสุทธิ์ใจ และความสามัคคีของทุกคน ทำให้การดำเนินงานในหนึ่งปีที่ผ่านมามีความราบรื่น แม้จะเกิดอุปสรรคบ้างในบางครั้ง แต่ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถแก้ไขได้ โดยภาพรวมแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในช่วงระยะเวลาหนึ่งปี โดยสามารถวัดได้จากสถิติเด็กนักเรียนที่คอตัมอัล-กุรอานในปีนี้ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 70 คน แบ่งเป็นนักเรียนหญิงจำนวน 41 คน และนักเรียนชายจำนวน 29 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 689 คน นักเรียนหญิงจำนวน 227 คน และนักเรียนชายจำนวน 462 คน ซึ่งอยู่ในอัตราส่วน 9 : 100 หมายความว่าในจำนวนนักเรียน 100 คน มีนักเรียนที่คอตัมอัล-กุรอาน 9 คน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่ามาตรฐานของประเทศอินโดนิเซียผู้คิดค้นนระบบการเรียนอัล-กุรอานโดยใช้ระบบกีรออาตี ซึ่งตั้งอัตราการคอตัมอัล-กุรอานอยู่ที่ 20 : 100 แม้จะไม่ถึงมาตรฐานที่ตั้งไว้ แต่ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง
สุดท้ายนี้แม้การเดินทางของกีรออาตีจะแสนไกลเพียงใด จากอินโดนิเซียมาถึงไทยหรือไม่ว่าจากประเทศไหนก็ตามหรือมันจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญที่สุดคือหากมันสามารถสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและยกระดับคุณภาพของชีวิตแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่เราต้องนำมาทำให้เกิดเป็นรูปธรรมและทำให้ดีที่สุดเท่าความสามารถที่อัลลอฮฺทรงประทานมาให้ได้ แล้วปลายทางข้างหน้าอินชาอัลลอฮฺคือความสำเร็จทั้งโลกนี้และโลกหน้า ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนการงานของทุก ๆ ท่านที่ผ่านมาและขอให้ยืนหยัดในการทำงานเพื่อศาสนาของอัลลอฮฺตราบวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ขออัลลอฮฺทรงตอบรับการงานของข้าพระองค์ด้วยเถิด
ขออัลลอฮฺทรงให้ชีวิตช่วงสุดท้ายของข้าพระองค์เป็นช่วงสุดท้ายที่ประเสริฐที่สุด
وبالله توفق والهداية والسلام عليكم ورحمةالله وبركاته
.......โปรดติดตามบทความต่อไปในโอกาสหน้านะครับ.......
เขียนโดย
โรงเรียนอัล-กุรอานและภาษากาลามุลลอฮฺ ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี 073-491313
ที่
วันจันทร์, มิถุนายน 14, 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น