วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การลงทุน(เพื่ออาคิรัต)ทางการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัด

อัสลามุอาลัยกุม วาเราะมาตุลลอฮฺ วาบารอกาตุฮฺ
          ความก้าวล้ำทันสมัยของเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่เริ่มตื่นนอนไปจนถึงเข้าห้องนอน กิจวัตรประจำวันจากที่เคยเชื่องช้าและเสียเวลากลายมาเป็นกิจวัตรที่เร่งรีบและแข่งขันกันอย่างไม่หยุดยั้งตามสภาพของแต่ละสังคมที่นิยมใช้เทคโนโลยีและตามข้อจำกัดของแต่ละสังคมเพราะความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในโลกแห่งทุนนิยมซึ่งเป็นสังคมส่วนใหญ่
          เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดการศึกษาในปัจจุบันก็มีความเจริญรุ่งเรืองและก้าวล้ำตามความทันสมัยของเทคโนโลยีเป็นเงาตามตัว เพราะประเทศใดที่ได้เปรียบในเรื่องของเทคโนโลยีแล้วแน่นอนว่าประเทศนั้นก็จะเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าเกือบทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การท่องเที่ยว และการศึกษาและอื่น ๆ ซึ่งในบทความดังกล่าวนี้จะขอกล่าวถึงเรื่องของการศึกษา ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญของที่มาของความเจริญทุก ๆ ด้าน และไม่มีประเทศใดที่จะปฏิเสธความเจริญในด้านนี้ เพราะเศรษฐกิจจะดีและมีเสถียรภาพได้ ต้องมาจากนักธุรกิจที่เชี่ยวชาญ การเมืองจะมั่นคงและเข้มแข็งต้องมาจากนักการเมืองที่ชาญฉลาดและซื่อสัตย์และบริหารจัดการเก่ง การท่องเที่ยวจะรุ่งเรืองต้องมาจากการให้บริการที่ดีและสะดวกสบายแก้นักท่องเที่ยว ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้นล้วนมาจากการจัดระบบทางการศึกษาที่ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักการ การจัดการศึกษาที่ดีจะทำให้เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า
         ในบทความนี้จะกล่าวถึงเรื่องการจัดการศึกษาในพื้นที่ของผู้เขียนซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นการเปิดประเด็นทางวิชาการด้านการศึกษาเพื่อส่องกระจกดูว่า ณ สภาพปัจจุบันที่สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนอยู่ตอนนี้ มีเข้มข้นและสัมฤทธิ์ผลมากแค่ไหนหรือพูดเป็นศัพท์ทางวิชาการคือมีมาตรฐานมากแค่ไหน ตรงตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือไม่ และที่สำคัญจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งต้องใช้หลักสูตรอิสลามศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานควบคู่ด้วยนั้นจะสอดคล้องกับสภาพสังคมมุสลิมมากแค่ไหน
         ผู้เขียนขอกล่าวยกย่องนักวิชาการมุสลิมและนักวิชาการที่เห็นสอดคล้องกับนักวิชาการมุสลิม ที่พยายามจัดการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดและพื้นที่อื่น ๆ ที่มุสลิมอาศัยอยู่เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของศาสนา ไม่ใช่เพราะความต้องการของคนในพื้นที่แต่เพราะเบื้องลึกของความต้องการนั่นคือหลักการที่ซึมซาบเข้าไปในตัวและหัวใจของมุสลิมทุกคน จนปัจจุบันมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจำนวนมากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อมูลจากสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สถิติจำนวนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามปี2009มีจำนวนทั้งสิ้น 3,792 แห่ง และสถิติจำนวนนักเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามปี2009แบ่งตามจังหวัดปัตตานีจำนวน 10,151คน จังหวัดยะลาจำนวน 10,441คน และจังหวัดนราธิวาสจำนวน 15,391คน ข้อมูลดังกล่าวยังเป็นข้อมูลดิบซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะมีจำนวนนักเรียนมากกว่าที่กล่าวมาข้างต้น และหนึ่งในความภาคภูมิใจอย่างยิ่งหลังจากที่นักวิชาการมุสลิมและผู้ทรงคุณวุฒิได้ร่วมกันก่อตั้งสถาบันระดับอุดมศึกษาของมุสลิมเองจนเป็นที่ยอมรับของสังคมในปัจจุบันนั่นคือมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาซึ่งมีท่านดร.อิสมาแอลลุตฟี จะปะกียา เป็นอธิการบดีแล้ว ยังมีสถาบันการศึกษาระดับโรงเรียนที่เป็นนวัฒกรรมใหม่ทางการศึกษามากล่าวในที่นี้ด้วย ซึ่งผู้ที่ปูรากสร้างฐานก็เป็นที่รู้จักกันดีในนามอาจารย์สุนทร ปิยะวสันต์ อดีตครูสอนภาษาอังกฤษโรงเรียนยะหริ่ง อดีตศึกษานิเทศจังหวัดปัตตานี ท่านเป็นผูุ้ที่ออกแบบนวัฒกรรมทางการศึกษาใหม่ล่าสุดนี้ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในวงการการศึกษามายาวนานกว่า30ปี ด้วยความที่ท่านมองเห็นภาพการศึกษาในพื้นที่และผลักดันอิสลามศึกษามายาวนาน ปัจจุบันท่านเปิดโรงเรียนอัล-กุรอานและภาษากาลามุลลอฮฺ Kalamullah al-Qur'an and Multilingual School ณ ม.2 ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยก่อนหน้านี้เปิดสอนอัล-กุรอานโดยใช้ระบบกีรออาตีที่บ้านของท่านเอง และปัจจุบันก็ยังเปิดดำเนินอยู่พร้อมๆกับเปิดโรงเรียนไปด้วย โดยท่านได้นำทฤษฎีการจัดการศึกษาแนวใหม่ที่ท่านคิดมาใช้ในโรงเรียนดังกล่าวด้วย ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 181 คน โดยเปิดดำเนินการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียน
               ชั้นอนุบาล1 จำนวน 13 คน
               ชั้นอนุบาล2  จำนวน 24คน
               ชั้นอนุบาล3  จำนวน 20คน
               ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 20 คน
               ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/1 จำนวน 16 คน
               ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/2 จำนวน 17 คน
               ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 11 คน
               ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 จำนวน 23 คน
               ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/2 จำนวน 12 คน
               ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 จำนวน 12 คน
               ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/2 จำนวน 15 คน
           ตลอดระยะเวลาการดำเนินการจัดการเรียนการสอน 2 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเห็นและสัมผัสได้ถึงความสำเร็จของนักเรียน ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของนักเรียนอันดับแรกก็คือ นักเรียนสามารถอ่านอัล-กุรอานได้ทุกคนและถือเป็นจุดแข็งของโรงเรียนในด้านนี้ ในขณะที่ด้านอื่น ๆ ซึ่งเป็นจุดแข็งด้วยนั่นคือภาษานั้นพบว่านักเรียนชั้นประถมสามารถเรียนรู้ภาษาได้ดีและมีความจำเป็นเยี่ยม นักเรียนสามารถตอบโต้และสื่อสารได้ในระดับหนึ่ง แต่จะพบปัญหาในกลุ่มชั้นมัธยมซึ่งพบว่านักเรียนส่วนใหญ่ที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นั้นมีพื้นฐานทางภาษาอังกฤษค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ นักเรียนต้องใช้หนังสือGet Set Go เล่ม 1 ซึ่งเป็นหนังสือสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มาเรียนเสริมในวันเสาร์และวันอาทิตย์3ชั่วโมง เช่นเดียวกับภาษาอาหรับและภาษามลายูที่นักเรียนมีพื้นฐานทางภาษาน้อยเช่นกัน ในส่วนของอัล-กุรอานนั้นนักเรียนชั้นมัธยมมีเวลาเรียนมากเป็นพิเศษเฉลี่ยแล้วในหนึ่งสัปดาห์นักเรียนมีเวลาเรียนอัล-กุรอานในชั่วโมงทั้งหมด 11 ชั่วโมง อัลฮัมดุลิลลาฮฺ!!!!
            ประการสำคัญที่ผู้เขียนขอกล่าวในที่นี้คือ อุปสรรคของโรงเรียนที่ประสบอยู่ ณ ตอนนี้คืออาคารเรียนซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ โรงเรียนยังคงใช้อาคารหลังคาจากซึ่งเป็นอาคารชั่วคราวเป็นที่สำหรับใช้จัดการเรียนการสอนอยู่ตอนนี้ ทำให้เกิดข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ขณะนี้โรงเรียนกำลังประสบปัญหาห้องเรียนไม่เพียงพอ เนื่องจากเจ้าของงบประมาณจากประเทศอาหรับหยุดส่งงบประมาณมาให้จึงทำให้อาคารหยุดชะงักมานานกว่า2ปี แนวทางในการแก้ไขปัญหา ณ ตอนนี้คือ อาจารย์สุนทรต้องตระเวณหางบประมาณและพยายามติดต่อจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้สร้างอาคารให้แล้วเสร็จ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีผู้ที่ต้องการรับผิดชอบในการสร้างอาคารเรียนให้แล้วเสร็จ แต่ถึงกระนั้นบุคลากรทุกคนก็ยังหวังและดุอาให้อัลลอฮฺ ซุบฮานาฮุวะตะอาลา ได้ส่งผู้ที่จะอุทิศตนเพื่อบริจาคสร้างอาคารให้แล้วเสร็จ เพื่อสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ อาจารย์กล่าวว่าหากอาคารเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว โรงเรียนสามารถดำเนินการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ สโลแกนที่ท่านวาดไว้จะสามารถนำมาใช้ได้ทันที กล่าวคือ โรงเรียนตัฮฟิซอัล-กุรอาน โปรแกรมนานาชาติ ในห้องเรียนอิเล็กโทรนิกส์ บรรยากาศเหมือนโรงแรมและรีสอร์ท นักเรียนได้ทั้งตัฮฟิซ ซานาวีย์ และ ม.6
          ท้ังหมดนี้ล้วนเกิดมาจากความตั้งใจที่อยากจะเห็นสังคมมุสลิมในพื้นที่ ได้รับการศึกษาที่ได้มาตรฐาน ยกระดับความรู้ ยกระดับการศึกษาของมุสลิม และเป็นการศึกษาที่มีระบบ บูรณาการทั้งศาสนาและสามัญให้เป็นเนื้อเดียวกัน นักเรียนมีศักยภาพและมีบุคลิกที่เป็นมุสลิมอย่างชัดเจน มีจุดยืนที่มั่นคง ซึ่งปรากฏอยู่ในคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของโรงเรียนทั้ง 25 ข้อ
          สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดมันอาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในไม่ช้า หากทุกคนได้ร่วมกันขอดุอาและช่วยกันสร้างสังคมมุสลิมให้มั่นคง ผู้ที่มีความสามารถด้านปัญญาก็อุทิศปัญญาเพื่อสังคม ผู้ที่มีความสามารถด้านกำลังทรัพย์ก็อุทิศกำลังทรัพย์เพื่อสังคม นี่คือการลงทุนเพื่ออาคิรัต และเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนปราศจากความเสี่ยงใด ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น